เศรษฐกิจไทยปี 68 ไปไม่ถึง 3% จับตาสงครามการค้าสหรัฐ ปัจจัยเสี่ยง-ผันผวนสูง

2024-11-18 HaiPress

สภาพัฒน์ จับตานโยบายทรัมป์ สงครามการค้าสหรัฐ กระทบเศรษฐกิจไทย คาดปี 68 จีดีพีขยายตัวมีค่ากลาง 2.8% เปิดปัจจัยเสี่ยง-ผันผวน ปัจจัยสนับสนุน แนะเตรียมมาตรการรับมือ

วันที่ 18 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 67 ที่ผ่านมา ขยายตัว 3% เร่งขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า จากภาคการใช้จ่ายและการผลิตปรับตัวดีขึ้น มีภาคการผลิตที่เป็นภาคเกษตรปรับตัวลดลง แต่หลายตัวยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคเอกชน การบริโภคภาครัฐ และการลงทุนขยายตัวได้ดี รวมถึงการส่งออกสินค้าปรับตัวเร่งขึ้น และการท่องเที่ยวขยายตัวได้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยช่วง 9 เดือนตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 67 ขยายตัว 2.3% จากการส่งออกในไตรมาส 3 ขยายตัวเร่งขึ้น ในส่วนของการว่างงานในไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.02% การว่างงานอยู่ระดับต่ำ และลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 1.07% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนี้สาธารณะ 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.3% ต่อจีดีพี

นายดนุชา กล่าวว่า สศช.ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 คาดขยายตัว 2.6% ภายใต้สมมุติฐาน เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3% สหรัฐ 2.6% จีน 4.7% การค้าโลก 3% ด้านอัตราแลกเปลี่ยน 35.4 บาทต่อดอลลาร์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อนแต่รายได้ขยายตัวดีขึ้น 1.5 ล้านล้านบาท และการส่งออกขยายตัว 3.8%

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในปี 68 คาดว่าจะขยายตัวช่วง 2.3-3.3% ค่ากลาง 2.8% โดยต้องจับตานโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งว่าจะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งในปี 68 ไทยต้องเจอความเสี่ยงเยอะ และความผันผวนค่อนข้างมาก จากสงครามการค้า อาจกระทบกับการค้าการส่งออกไทย ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยปี 68 ขยายตัว 2.6%

สำหรับสมมุติฐานปี 68 เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3% สหรัฐ 2.2% จีน 4.5% ด้านอัตราแลกเปลี่ยน 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 38 ล้านคน รายได้ท่องเที่ยว 1.63 ล้านล้านบาท

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนปี 68 คือ การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และขยายตัวอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ ขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และส่งออก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ งบลงทุนเร่งรัดเบิกจ่ายได้มากขึ้นถ้าทำได้ต่อเนื่อง จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“ปัจจัยเสี่ยงเรื่องเทรดวอร์ หลังทรัมป์เข้ามา ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะการค้า และความยืดเยื้อความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องดูว่าจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้การสู้รบสามารถเบาบางลงได้ และยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง และความผันผวนภาคเกษตร ราคาสินค้าเกษตรสำคัญด้วย”

นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐต้องจับตามอง มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วงหาเสียงที่ผ่านมา ถ้าดูไทม์ไลน์เกี่ยวกับมาตรการกีดกันการค้าสหรัฐ จะเห็นว่าในช่วงที่ทรัมป์เข้ามาเป็นประธาธิบดีสหรัฐสมัยแรก เห็นว่าช่วงแรกมีการรวบรวมข้อมูล และมีมาตรการออกมาช่วงเดือน มี.ค. เป็นส่วนแรก มีการทยอยออกมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 61 แต่ช่วงนั้นจีนเองก็มีมาตรการตอบโต้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ไทยควรพิจารณา คือจะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไร โดยต้องดูว่าความรุนแรงของมาตรการที่จะออกมาครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง และเรื่องระยะเวลาออกมาช่วงไหน

อย่างไรก็ตามในเรื่องภาคการส่งออกไทย ในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสสอง ปี 68 ยังขยายตัวได้อยู่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมาตรการที่จะออกมา ควรมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง อาจสร้างความผันผวนเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากในปี 68 ทำให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า ควรใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการ

ส่วนในเรื่องหนี้ครัวเรือน ขณะนี้ทางสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสศช. ร่วมกันทำมาตรการช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน อยู่ระหว่างทำในรายละเอียด อีกส่วนคือความผันผวนภาคการเกษตรของไทย คาดปี 68 มีผู้ผลิตสินค้าเกษตรผลิตออกมาค่อนข้างมาก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง คงต้องเตรียมมาตรการดูแลรื่องนี้

5 เรื่องที่ต้องจับตาในปี 68


1.ขับเคลื่อนภาคการส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น เตรียมรับมือมาตรการกีดกันการค้าสหรัฐด้วย โดยควรเตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบ


2.เรื่องป้องกันภาคการผลิต ใช้นโยบายการค้าไม่เป็นธรรม พอมีการกีดกันการค้า จะทำให้มีผลกระทบกับผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทำให้การกำกับดูแลคุณภาพสินค้า ตรวจสอบ ต้องเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น


3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คงต้องเร่งรัดการลงทุนเอกชนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน และภาครัฐเร่งเบิกจ่ายลงทุน เบิกจ่ายการก่อสร้าง


4.ดูแลภาคเกษตร โดยเฉพาะเยียวยาความเสียหาย จากเรื่องน้ำท่วม โดยในปี 68 เตรียมการรองรับลดความผันผวน เร่งรัดส่งออกสินค้า และเกษตรแปรรูปมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี


5.ช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสภาพคล่อง สร้างรายได้ เพราะเอสเอ็มอีสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางเพื่อสร้างรายได้

“เงินดิจิทัล 10,000 บาท มีผลในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนปี 68 ต้องดูตามช่วงเวลาเพราะขึ้นอยู่กับการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นด้วยว่าจะมีเรื่องเงินดิจิทัลต่อไปอย่างไร และต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ต้องพิจารณาจากสถานการณ์รอบถัดไป ขณะที่ความเสี่ยงปี 68 มีมากขึ้น การใช้จ่ายกระตุ้นต้องตรงเป้ามากขึ้น ต้องหารือต่อเนื่องอีกครั้ง ซึ่งเงินหมื่นเข้าระบบแล้ว แต่ต้องสำรวจอีกครั้ง เมื่อเป็นเงินสดจะประเมินค่อนข้างยาก ต้องไปสำรวจอีกครั้ง ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสศช.”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ฟอรั่ม Northern Business Alliance      ติดต่อเรา   SiteMap