คลัง ถก คมนาคม ตั้งกองทุนรวมซื้อคืนรถไฟฟ้า เผยมูลค่าสัมปทานทะลุ 5 แสนล้าน

2024-09-17 HaiPress

คลัง ถก คมนาคม ตั้งกองทุนรวมซื้อคืนรถไฟฟ้า 20 บาท เผยมูลค่าสัมปทานรถไฟฟ้า ทะลุ 5 แสนล้าน


นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาล และกำหนดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้รับการติดต่อจากกระทรวงคมนาคม ผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแนวคิดการลงทุนดังกล่าวแล้ว และจะนัดหารือกันเพื่อหาแนวทางการผลักดันต่อไป โดยแนวคิดนี้คลังเชื่อว่าสามารถทำได้ในการตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาเพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนมาเป็นทรัพย์สินของรัฐ แต่จะต้องมีการหารือกันในรายละเอียดก่อน


รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า หลักการของแนวคิดดังกล่าว กระทรวงการคลัง จะมีการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา มีลักษณะเป็นกองทุนรวมระยะยาว และมีการเปิดขายหน่วยลงทุนให้แก่ประชาชน หรือนักลงทุนสถาบัน เพื่อนำเงินจากหน่วยลงทุนไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายที่เป็นของเอกชนมาเป็นของรัฐ จากนั้นให้นำรายได้และกำไรจากค่าโดยสาร มาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับนักลงทุน 

ปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่า หากรัฐบาลจะใช้เงินซื้อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาทั้งหมด อาจต้องใช้เงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก หรือบีทีเอส ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มูลค่า 50,000 ล้านบาท สายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 27,000 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื้อ 1.15 แสนล้านบาท สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ,หัวลำโพง-บางแค 81,000 ล้านบาท สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 48,000 ล้านบาท สายสีชมพู 51,000 ล้านบาท และสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี 140,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม ยังมีแนวคิดจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนรวมดังกล่าวด้วย เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้  นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ว่า รถไฟฟ้า 20 บาท คงต้องทํา พูดไปแล้วต้องทําให้ได้ เพราะฉะนั้น อาจจะต้องเวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหาร กลับมาเป็นของรัฐแล้วจ้างเอกชนเป็นคนบริหารแล้วกําหนดค่าตั๋วเอง เพราะไม่เช่นนั้นเอกชนจะมุ่งเรื่องของกําไร เป็นสิ่งที่เราจะต้องทําต้องตั้งอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ หรือว่ากองทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเก็บค่าธรรมเนียมรถติด โดยการทําให้ประชาชนสามารถเดินทางในราคาถูกขึ้นได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะวันนี้คนที่เดินทาง ถ้าเดินทางโดยรถไฟฟ้านอกจากสะดวกรวดเร็วแล้ว คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก


คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ฟอรั่ม Northern Business Alliance      ติดต่อเรา   SiteMap